วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สันโศกและบอระเพ็ดยับยั้งเอดส์

รศ.ดร. งามผ่อง คงคาทิพย์ เป็นนักวิจัยของม. เกษตรศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนักวิจัยตัวอย่าง (ด้านสมุนไพร) จากสมาคมพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย โดยเข้ารับประทานโล่ประกาศเกียรติคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในวันที่ 11 ตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นวันเปิดงานการประชุมสัมมนาวิชาการพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 1 “ เฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี “ ณ ห้องประชุมสุธรรมอารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร. งามผ่อง คงคาทิพย์ ได้เริ่มทำวิจัยทางด้านสมุนไพรตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากภูมิหลังของอาจารย์ที่คุณตาเป็นแพทย์แผนโบราณ คุณพ่อคุณแม่ เปิดร้านขายยาสมุนไพรไทย จึงทำให้อาจารย์รู้ถึงคุณค่าของสมุนไพรเป็นอย่างดี
รศ.ดร. งามผ่อง คงคาทิพย์ และคณะผู้วิจัยในหน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) ซึ่งมี รศ.ดร. บุญส่ง คงคาทิพย์ เป็นหัวหน้าหน่วยได้ทำการวิจัยสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคที่พบเห็นบ่อย ร้ายแรง และเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเอดส์ เป็นต้น จากการวิจัยสมุนไพรมาเป็นเวลา 35 ปี ได้ทำวิจัยสมุนไพรหลายชนิด และยังทำการสังเคราะห์สารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์และอนุพันธ์ เพื่อให้ได้สารที่ออกฤทธิ์สูงกว่า โดยขอสรุปผลงานวิจัย สมุนไพรบางชนิดที่ใช้เป็นอาหารเสริมในการรักษาโรคเบาหวาน หัวใจ มะเร็ง และเอดส์ ดังนี้
บอระเพ็ด ( Tinospora criepa) ลำต้นที่มีอายุเกินสองปีขึ้นไป พบการออกฤทธ ิ์ดังนี้
1.1 บำรุงหัวใจ โดยพบว่าสารสกัดลำต้นบอระเพ็ดด้วยคลอโรฟอร์ม และเอทานอลเพิ่มแรงแรงบีบตัวกล้ามเนื้อหัวใจโดยไม่เพิ่มอัตราการเต้นหัวใจ พบสารออกฤทธิ์ประเภทอัลคาลอยด์ 2 ชนิดเป็นสารเอกลักษณ์สำคัญในการวิเคราะห์คุณสมบัตินี้ เพื่อควบคุมคุณภาพบอระเพ็ด (กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร)
1.2 ลดเบาหวาน เมื่อนำลำต้นบอระเพ็ดไปต้มเคี่ยวกับน้ำ จะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ พบสารออกฤทธ์ลดน้ำตาลในเลือด 3 ชนิดและได้นำชนิดที่ออกฤทธิ์ดีมาเป็นสารเอกลักษณ์สำคัญในการวิเคราะห์สมุนไพรนี้ว่าจะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหรือไม่ (ด้วยวิธี HPLC) เนื่องจากพบว่าบอระเพ็ดแต่ละแหล่งออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดต่างกัน แหล่งบอระเพ็ดที่ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ดีคือ สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ พิจิตรในขณะที่บอระเพ็ดจากจังหวัดสระแก้วไม่ออกฤทธิ์ (กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรขบวนการแยกสารออกฤทธิ์ฯ นี้ และใช้สารนี้เป็น marker ในการควบคุมคุณภาพของบอระเพ็ด) และได้ทำการทดสอบพิษเรื้อรังของบอระเพ็ดพบว่า ถ้ารับประทานบอระเพ็ดแห้ง วันละไม่เกิน 500 มิลลิกรัมจะไม่มีพิษแต่อย่างใด (ในขณะที่ขนาด 500 มิลลิกรัมที่ควบคุมคุณภาพแล้วนี้สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ดี )
1.3 ยับยั้งเชื้อเอดส์ พบสาร 2 ชนิดในลำต้นบอระเพ็ดที่สามารถยับยั้งเชื้อเอดส์ได้ (กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร)
1.4 ยับยั้งเซลล์มะเร็ง พบสาร 2 ชนิดในลำต้นบอระเพ็ดที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ (กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร)

สันโศก (Clausena excavata)
2.1 ยับยั้งเชื้อเอดส์ เมื่อนำรากและเหง้าสันโศกมาสกัดด้วย 35% เอทานอล/น้ำ สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี-1 (โรคเอดส์) ได้ พบสารยับยั้งเชื้อเอดส์ถึง 5 ชนิดในรากและเหง้า (ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตร 2 ฉบับ คือ สารบริสุทธิ์ประเภทคูมารินและคาร์บาโซล ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1 (anti-HIV-1 activity) ที่แยกได้จากสันโศก (Clausena excavata) Patent Application No.086881 และสารบริสุทธิ์ O-methylmukonal ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1 (anti-HIV-1 activity) ที่แยกได้จากสันโศก (Clausena excavata) เป็นครั้งแรก Patent Application No.086882) โดยได้นำสารเหล่านี้มาทำการวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพของสารสกัดสันโศก โดยขณะนี้พบสภาวะที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ด้วย HPLC เพื่อควบคุมคุณภาพของสันโศก เนื่องจากสันโศกแต่ละแหล่งมีการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอดส์ต่างกัน โดยแหล่งที่มีการออกฤทธิ์ดี คือ ตราด ลำปาง จันทบุรี เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ใช้สมุนไพรชนิดนี้หมักด้วยเหล้าโรง 35 ดีกรี ประมาณ 7 วัน ก่อนนำไปรับประทานควรจะนำไปอุ่นเคี่ยวเพื่อให้เอทานอลระเหยออก
2.2 ยับยั้งเชื้อวัณโรค พบสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค ในรากและเหง้าของสันโศกถึง 7 ชนิด ซึ่งเป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์
2.3 ยับยั้งเชื้อรา พบสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา ในรากและเหง้าสันโศก 4 ชนิด โดยเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์
ทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus) ในรากและใบของต้นทองพันชั่งมีสารไรนาแคนทิน หลายชนิด ซึ่งเป็นสารกลุ่มแนพโทควิโนนเอสเทอร์ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดี และยังพบว่าสารไรนาแคนทินบางชนิดออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี แต่ปริมาณของสาร Rhinacanthins ที่แยกได้จากพืชมีปริมาณน้อยมาก ดังนั้นการสังเคราะห์สารเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อนำไปสู่ยารักษาโรคมะเร็งหรือยาปฏิชีวนะได้ในอนาคต ทางหน่วย NPOS ได้ทำวิจัยร่วมกับฝ่ายสมุนไพรสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งมีคุณผ่องพรรณ ศิริพงษ์ เป็นหัวหน้าหน่วย โดยทางหน่วย NPOS ได้ทำการสังเคราะห์สารไรนาแคนทินและอนุพันธ์ ไปทั้งหมด 70 ชนิด (ได้ทำการจดสิทธิบัตรไป 2 ฉบับ ในชื่อเรื่อง "สารอนุพันธ์ใหม่ dihydropyrano-1,2-naphthoquinones, dihydrofurano-1,2-naphthoquinones, dihydropyrano-1,4-naphthoquinones และ dihydrofurano-1,4-naphthoquinones ที่ยับยั้งเซลล์มะเร็ง" (Patent Application No. 073725) และ "สารอนุพันธ์ใหม่ 1,4-แนพโทควิโนน เอสเทอร์ (1,4-naphthoquinone ester) ที่ยับยั้งเซลล์มะเร็ง" (Patent Application No. 073726) )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น