วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ศิลปะการชงชาแบบจีน สุดยอดวิชาฝึกจิต สมาธิดี-เรียนดีขึ้น


นักเรียนไทยในไต้หวัน ชี้พิธีชงชาจีนเจ๋ง ช่วยฝึกจิตสร้างสมาธิในการเรียนให้ดีขึ้นได้ เผยมหาวิทยาลัยในไต้หวันจัดเป็นคอร์สเสริมนักเรียนต่างชาติ พร้อมสอนวิธีชงชาที่ถูกต้องตามหลักศิลปะจีนโบราณ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านใบชา แนะ 4 ปัจจัยเสริมชงชาจีนให้ได้รสชาติดี

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สังคมยิ่งเข้าสู่ความวุ่นวายมากเท่าไร คนเราก็จะเริ่มไขว่คว้าหาความสุขความสงบใกล้ตัวมากขึ้น ทำให้ยิ่งนานวันวัฒนธรรมตะวันออก ก็ยิ่งได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากขึ้น โดยเฉพาะศิลปะที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของจีนอย่างการชงชา ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องสุขภาพ และช่วยในการผ่อนคลายความตึงเครียดได้ดีแล้ว ในอดีตศิลปะการชงชาของจีนยังได้ชื่อว่าเป็นเครื่องมือการฝึกจิตให้คนธรรมดากลายเป็นปราชญ์เมธีอีกด้วย'

'ภาพมืดสนิท เสียงเงียบได้ยินเพียงลมหายใจ ก่อนที่ทำนองไพเราะของดนตรีแผ่วแบบนุ่มนวล หนัก เบา อ่อนหวาน เข้ากันอย่างลงตัว จากเครื่องดนตรีจีนกู๋เจิงยังคงก้องดังสายลมผ่าน รอบๆ ตัวของทุกคนในห้องชงชา กลิ่นเทียนยังแตะจมูกของฉันแผ่วปลาบ ก่อนที่เสียงทำนองดนตรีจะเปลี่ยนจากอ่อนหวาน เป็นเสียงสูงดังลมกระทบใบไม้ ความรู้สึกที่อบอุ่นของเสียงเพลงยังคงผ่านเข้ามาทำให้รู้สึกผ่อนคลาย'ความคิดในหัวเริ่มลดลง เปลี่ยนกลายสลายหายเป็นความรู้สึกที่ผ่อนลงจากความคิดมากมายของทั้งวัน'ทุกคนเปิดเปลือกตาอย่างช้าๆ เมื่อทำนองดนตรีหยุดลง'

บทความของน้ำฟ้า หรือ ธรรมพร เรืองศรีอรัญ ในเวป www.homeschooldd.com ทำให้ 'ผู้จัดการรายสัปดาห์ 360องศา'ติดต่อกลับน้ำฟ้า ทำให้ทราบว่าน้ำฟ้าได้รับการเรียนการสอนในระบบ homeschool มาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ โดยคุณแม่เป็นผู้จัดการเรียนการสอนเอง จนปัจจุบันนี้น้องน้ำฟ้ามีอายุ 16 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ 3 ปี คุณแม่ได้จ้างอาจารย์พิเศษมาสอนภาษาจีนน้ำฟ้า และน้ำฟ้ามีความสนใจและมีความชอบมาก จึงทำให้น้ำฟ้าตัดสินใจไปเรียนภาษาจีนที่ประเทศไต้หวัน เพราะเป็นประเทศที่ยังอนุรักษ์การเรียนการสอนภาษาจีนแบบตัวเต็ม และมีการถ่ายทอดศิลปะจีนโบราณด้วย ปัจจุบันน้ำฟ้าได้เดินทางไปเรียนภาษาจีนที่ประเทศไต้หวันเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว

ศิลปะการชงชาจีน-ฝึกสมาธิ

น้ำฟ้า กล่าวว่าปัจจุบันได้เข้าเรียนภาษาจีนที่ มหาวิทยาลัยฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ซึ่งในการเรียนภาษาจีนนั้น จะไม่ได้เรียนวิชาภาษาจีนอย่างเดียว แต่จะมีวิชาพิเศษซึ่งจะเป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมจีนโบราณด้วย และวิชาชงชา หรือ (ch? d?o k?) ก็เป็นวิชาที่น่าสนใจมาก

'วิชาชงชาเป็นวิชาที่มหาวิทยาลัยจัดให้เป็นชั่วโมงพิเศษที่สอนให้นักเรียนรู้จักวิธีสงบใจ และรู้สึกตัวทุกขณะ ซึ่งเมื่อสงบจิตใจได้ดีแล้ว ก็จะส่งเสริมให้นักเรียนสามารถไปเรียนในวิชาปกติได้ดีขึ้น'

ก่อนการเข้าเรียน อาจารย์จะมีการดีดดนตรีกู่เจิงให้นักเรียนทุกคนได้ฟังเสียงเพลง ถือเป็นจุดเริ่มต้นทำใจให้สงบก่อนเข้าสู่พิธีชงชาแบบจีน โดยศิลปะการชงชาแบบจีนนั้น จะเน้นความเชื่องช้า การกำหนดจิตให้รับรู้ทุกความรู้สึก ทุกความเคลื่อนไหว จึงเป็นวิธีที่ช่วยในการทำใจให้สงบ เหมือนกับการเดินจงกรมของทางพระพุทธศาสนา ที่จะต้องกำหนดสติรู้แต่ละก้าวย่าง โดยการชงชาก็ต้องกำหนดสติรู้ในทุกขั้นตอน ถึงจะเกิดสมาธิ

ทุกขั้นตอน 'ชงชา'ใช้สติกำหนดรู้

ในขั้นตอนของการชงชานั้น จะเริ่มต้นจากการเตรียมอุปกรณ์การชงชา ซึ่งจะประกอบด้วย กาน้ำ บรรจุน้ำร้อน (ขนาดกลาง),เครื่องวัดอุณภูมิความร้อน,เตาแก๊สความร้อนขนาดเล็ก,กาน้ำชงชา (เฉพาะชงชา),เหยือกน้ำดินเผา สำหรับชงชา,ถ้วยรองน้ำทิ้ง,แก้วชา,ใบชา (ชนิดแล้วแต่ต้องการ),ช้อนตักใบชาและขนมหวาน

โดยอุณหภูมิในน้ำร้อนชงชา เป็นอันดับแรกที่ผู้ชงจะต้องให้ความสำคัญ และกำหนดสติรู้ให้ได้ว่า จะต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่ไว้ที่ 92 องศาเซลเซียส หากตัววัดอุณหภูมิความร้อนสูงขึ้นหรือต่ำลง ให้เติมเชื้อไฟหรือลดเชื้อเพลิงรักษาระดับความร้อนไว้ที่ 92 องศา

จากนั้นให้เปิดฝากาน้ำดินเผา ด้วยท่าวงกลม ขณะที่เปิดก็ต้องกำหนดจิตไว้ที่การเปิดฝากาน้ำชาด้วย ว่ากำลังเปิดฝากาน้ำ จากนั้นเทน้ำร้อนอุณหภูมิ 92 องศาฯ ลงในกาน้ำดินเผา คอยเฝ้าดูน้ำร้อนไหลลงสู่ถ้วยชานั้น พร้อมกับตั้งสติรับรู้ว่าน้ำร้อนกำลังไหลลงสู่ถ้วยชาช้าๆ จากนั้นปิดด้วยท่าวงกลมอ้อมเหยือกอย่างช้าๆ อีกครั้งหนึ่ง

ทิ้งไว้ 2 นาที แล้วจึงเทน้ำร้อนลงเหยือกน้ำเล็กจนหมด จากนั้นปิดฝากาน้ำด้วยท่าวงกลมอ้อมเหยือกอีกครั้งหนึ่งด้วยจิตใจสงบอย่าวอกแวก

ตามด้วยการประคองเหยือกด้วยมือทั้ง 2 ข้าง ก่อนจะเทลงบนแก้วน้ำชาทุกใบ ทุกขั้นตอนต้องตั้งใจ และใจจดจ่ออยู่กับท่าทางที่กำลังทำอยู่ จากนั้นรอระยะหนึ่ง แล้วจึงเทน้ำจากแก้วน้ำชาลงในถ้วยรองน้ำทิ้งทุกใบ ขณะที่เทน้ำทิ้งก็ต้องรับรู้ว่า กำลังเทน้ำ น้ำกำลังไหลจากแก้วน้ำชาสู่ถ้วยรองน้ำทิ้งอย่างช้าๆ

จากนั้นเปิดฝากาน้ำดินเผาด้วยท่าวงกลม เทน้ำร้อนอุณหภูมิ 92 องศาฯ ลงในกาน้ำดินเผา และปิดด้วยท่าวงกลมอ้อมเหยือก

นำช้อนไม้ไผ่ทรงกระบอกรูปช้อนทรงกลมสี่เหลี่ยม ตักใบชาในปริมาณตามความนิยมของผู้ดื่ม หากต้องการรสชาติออกขม ก็ใส่มากหน่อย หรือหากชอบชาในรสชาติจางๆ ก็ใส่ใบชาจำนวนน้อยลง จากนั้นปิดฝาด้วยท่าวงกลม

ทิ้งไว้ประมาณ 2 นาทีกว่าๆ กลิ่นหอมของชาจะลอยขึ้นมา เมื่อรับรู้ถึงกลิ่น ผู้ชงก็จะหยิบเหยือกชาดินเผาขึ้นช้าๆ แล้วเทลงในเหยือกน้ำเล็กอีกที วางกาน้ำชาลงและปิดด้วยท่าวงกลมอีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นประคองเหยือกเล็กด้วยมือทั้งสองข้าง และเทน้ำชาลงบนแก้วน้ำชาทุกใบอย่างช้าๆ ซึ่งชาจะมีกลิ่นและควันสีขาวจางๆลอยขึ้นมา

เมื่อรับรู้ถึงกลิ่น และเห็นควันสีขาวจางขึ้นมาจากแก้ว ให้ผู้ดื่มหยิบยกแก้วน้ำชาขึ้นจิบ ลิ้นจะสัมผัสได้ถึงความหนักเบาของชาที่ผู้ชงชาได้ใส่ลงในเหยือกชา น้ำชายังคงอยู่ในปากรับรู้ถึงความร้อน ความหอมถึงชา ก่อนจะอุ่นลง จากนั้นให้กระดกแก้วดื่มจนหมด เพื่อสัมผัสความอุ่นผ่านคอช้าๆ

ตามด้วยการรินน้ำชาแก้วที่ 2 เพื่อดื่มกับขนมหวาน ชาในแก้วที่ 2 นี้จะมีรสชาติต่างจากชาแก้วแรก โดยรสชาติจะบางลงกว่าแก้วแรก ถือว่าจบพิธีการชงชาแบบจีน

น้ำฟ้า กล่าวว่า จากที่ได้ฝึกการชงชาแบบจีนมา ทำให้รู้สึกจิตใจสงบมากขึ้น และรู้สึกชอบที่จะได้เรียนวิชานี้ แม้จะเป็นวิชาเพิ่มเติมก็ตาม ซึ่งครั้งแรกๆนั้น อาจจะยังทำได้ไม่คล่องตัวนัก แต่ถ้ามีการฝึกบ่อยๆ ก็จะเริ่มชิน และสามารถชงชาได้อย่างคล่องตัว ซึ่งเป็นการฝึกสมาธิไปในตัวด้วย

โดยหลังจากเรียนวิชาการชงชาแบบจีน น้ำฟ้าได้รู้สึกสงบนิ่งมากขึ้น และนำไปปรับใช้กับการเรียนภาษาจีน ซึ่งน้ำฟ้าเลือกเรียนตัวอักษรจีนตัวเต็ม ซึ่งมีความยาก และต้องใช้สมาธิในการเรียนอย่างมากถึงจะจดจำตัวอักษรจีนได้ ซึ่งการฝึกสมาธิจากการชงชาก็ช่วยทำให้การเรียนภาษาจีนดีขึ้นด้วย

4 ปัจจัยหนุนการชงชาจีนให้ได้รสชาติดี

ในด้านความรู้จากใบชา นารีรัตน์ ชีวินกุลทอง ผู้สืบทอดร้านใบชาจรรยา กล่าวว่า เนื่องจากครอบครัวได้ทำธุรกิจใบชา ทำให้ได้จ้างผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวันมาควบคุมการผลิตชาของร้านด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านชาจากไต้หวันได้ถ่ายทอดความรู้ในการชงชาไว้จำนวนมาก

โดยนอกจากวิธีชงชาที่ถูกต้องแล้ว การชงชาให้ได้รสชาติดียังต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ

1.ปริมาณการใช้ใบชา นอกจากความชอบในการดื่มชาอ่อน หรือแก่แล้ว จะขึ้นอยู่กับลักษณะของใบชาด้วย เช่น ชาที่มีรูปร่างกลมแน่น กลมหลวม หรือเป็นเส้น ถ้าใช้ใบชาที่มีลักษณะกลมแน่น ควรใช้ชาในปริมาณ 25% ของกาชา ใบชา เมื่อแช่อยู่ในน้ำร้อน จะเริ่มคลี่ตัวออกมาทีละน้อย จนเป็นใบชัดเจน ถ้าใส่มากเกินไปจะทำให้การคลายตัวไม่สะดวก ซึ่งรสชาติ ที่ชงออกมาจะไม่ได้มาตรฐานของชานั้นๆ และการคลายตัวของใบชา เมื่อคลายตัวออกมาเต็มที่แล้ว ควรจะมีปริมาณประมาณ 90 % ของกาชา อย่างไรก็ตาม ขึ้น อยู่กับความชอบของแต่คนละด้วย ว่าต้องการรสชาติ เข้มข้นมากน้อยเพียงใด และขึ้นอยู่กับคุณภาพของใบชาแต่ละชนิดด้วย

2.อุณหภูมิน้ำ หากอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียสขึ้นไป เหมาะสำหรับชงชาแน่นกลม แต่อุณหภูมิที่ลดลงมาที่ 80-90 องศาเซลเซียสจะเหมาะสำหรับชงชาที่มีรูปร่างบอบบาง แตกหักง่าย หรือใบชาที่มีใบชาอ่อนมาก และอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 80 องศาเซลเซียสจะเหมาะสำหรับชงชาเขียว

3.เวลาชงชา ขึ้นอยู่กับความชอบดื่มน้ำชาอ่อนหรือแก่ของแต่ละคนด้วย แต่ปกติชาประเภทกลมแน่น จะใช้เวลาในครั้งแรกประมาณ 40 - 60 วินาที ครั้งต่อๆ ไป เพิ่มอีกครั้งละ 10 - 15 วินาทีต่อครั้ง

4.กาน้ำชานั้น ควรใช้เป็นกาดินเผา เพราะจะเก็บความร้อนได้ดีกว่า และรักษากลิ่นชาได้ดีกว่า

'การชงชาต้องพิถีพิถันตั้งแต่น้ำที่นำมาใช้ ควรใช้น้ำบริสุทธิ์ไม่กลิ่นคลอรีนเจือปน ส่วนกาชา กาดินเผาถ้าใช้นานๆ น้ำชาจะซึมเข้าไปในตัวกา ทำให้ยิ่งชงยิ่งอร่อย ดังนั้นกาดินเผาใบหนึ่งๆ หากใช้ในการชงชาประเภทใดแล้ว ควรใช้ชงชาประเภทนั้นตลอด จะทำให้มีรสชาติและกลิ่นกลมกล่อมมากขึ้น แต่หากไปใช้ใบชาชนิดอื่นมาชง กลิ่นและรสชาติจะตัดกัน ไม่ได้รสชาที่แท้จริง'

นอกจากนี้ สำหรับผู้นิยมดื่มชามากๆ แนะนำว่าหากใช้กาที่ผลิตมาจากดินสีม่วง จะสามารถเก็บรสชาติและกลิ่นได้ดีกว่ากาดินเผาธรรมดา และจะมีแร่ธาตุจากดินเข้าสู่ชาด้วย ซึ่งกาชนิดนี้จะมีราคาที่สูง หายาก

อย่างไรก็ดีคนจีนมีการดื่มชามาแล้ว 2,000 ปี ส่วนสมัยที่ศิลปการชงชาของจีนรุ่งเรืองมากที่สุดอยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง (คศ.618-907) จนปัจจุบันในประเทศจีน ชาได้รับการยกย่องว่าเป็นเครื่องดื่มแห่งชาติ เป็นเครื่องดื่มสำคัญที่มีความหมายทางวัฒนธรรมและศิลปะโบราณ ควบคู่กับ พิณจีน หมากรุก ศิลปะอักษรจีน การวาดภาพ การแต่งโคลงกลอนจีน และการดื่มสุรา โดยศิลปะการชงชานั้นก็ได้รับความสำคัญในระดับชาติของจีนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น