วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

หน่วยราชการพันธุ์ใหม่” ปรากฏการณ์เหลือเชื่อระดับโลก


- พบแล้ว!!! “หน่วยราชการพันธุ์ใหม่” นานาชาติยังต้องซูฮก
- เชื่อหรือไม่ ไทยติดอันดับโลก 1 ใน 8 หน่วยงานที่ชนะเลิศด้านบริการ
- “รพ.มหาราช เชียงใหม่” ตีโจทย์แตกปฎิรูปบริการสุขภาพ
- ก.สาธารณสุข เตรียมปั้น รพ.รัฐกว่า 30 แห่งทั่วประเทศสู่ รพ.ดิจิตอล

วันที่ 29 มิถุนายนนี้ เวลา 13.00-14.30 น. ณ Conference Room 4 อาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ที่ชื่อเสียงของประเทศไทยจะดังกระหึ่มกึกก้องบนเวทียูเอ็น ณ สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติประจำประเทศไทย และยังเป็นวันที่ สะท้อนความสำเร็จของการปฎิรูประบบราชการอีกขั้นหนึ่ง หลังจาก 7 ปีที่แนวคิดนี้ถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ผ่านมือรัฐบาลมาถึง 3 ยุค จนกระทั่งรัฐบาลยุคปัจจุบัน จากยุทธศาสตร์กลายมาเป็นยุทธวิธีที่ก่อเกิด “หน่วยงานราชการสายพันธุ์ใหม่” ที่สามารถตกผลึกโมเดลบริหารหน่วยงานของตนเองจนเป็นที่ยอมรับกล่าวขานระดับนานาชาติ (อ่านล้อมกรอบ ธ.โลกจัดไทยสะดวกสุดๆ เอื้อประกอบธุรกิจอับดับที่ 13)

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้มีความพยายามที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการยกระดับการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ ในระดับประเทศได้ส่งเสริมให้มีการมอบรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน แก่หน่วยงานของรัฐที่สามารถพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเรื่อยมา จนเป็นที่ยอมรับว่ามีความสะดวก รวดเร็ว สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการได้ระดับหนึ่งแล้ว เช่น การบริการทางการออกพาสปอร์ต บัตรประจำตัวประชาชน การต่อทะเบียนรถ ต่อมาได้จัดให้มีจุดบริการที่สำคัญของกระทรวงหรือจังหวัดไว้ ณ ที่แห่งเดียวกัน ในลักษณะศูนย์บริการร่วมของกระทรวงและจังหวัด รวมทั้งมีเคาน์เตอร์บริการประชาชนที่อยู่ในแหล่งชุมชนสำคัญ เพื่อให้บริการพื้นฐานของหลายส่วนราชการซึ่งให้บริการทุกวันและให้บริการนอกเวลาราชการ (อ่านล้อมกรอบ 3 ก้าวย่าง ยกระดับราชการไทย)

แม้ สำนักงาน ก.พ.ร.จะมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการในหลายหน่วยงาน แต่หน่วยงานรัฐสายพันธุ์ใหม่ ที่น่าจับตามองมากที่สุดเวลานี้ ต้องยกให้กลุ่ม “โรงพยาบาล” เพราะจัดว่าเป็นหน่วยงานราชการที่มีความพร้อม ทั้งบุคลากรและระบบมากที่สุด อีกทั้งมีความกระตือรือร้น ขวนขวายปรับปรุงการบริหารจัดการระบบแล้วเห็นผลสำเร็จ ทั้งที่มีกรอบกำหนดอยู่ก่อนแล้วในด้านแนวทางปฎิรูประบบสุขภาพ ที่กำหนดแนวคิดใหม่ 8 ข้อ ไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องมีบูรณาการระบบบริการ มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน นโยบายสาธารณะสร้างสุขภาพ ความเสมอภาคและเข้าถึงบริการ มีประสิทธิภาพด้วยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม คุณภาพมาตรฐานตองสนองความต้องการประชาชน พัฒนาศักยภาพผู้บริโภค และพึ่งตนเองด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยแต่ละข้อโรงพยาบาลรัฐต่างทำได้จนบรรลุผลสำเร็จให้เห็นเป็นข้อๆ โดยเฉพาะการบูรณาการระบบบริการ ความเสมอภาค และเข้าถึงบริการ รวมทั้งมีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม แต่หน่วยงานดังกล่าวนี้ก็สามารถขับเคลื่อนการปฎิรูปทั้ง 2 ภารกิจได้อย่างกลมกลืน และเห็นผลชัด

สำหรับโรงพยาบาลรัฐตัวอย่างที่เดินหน้าค่อนข้างโดดเด่นกว่าแห่งอื่นๆ รายแรก ต้องยกให้ “โรงพยาบาลยโสธร” ซึ่งจัดเป็นโรงพยาบาลนำร่องและติดป้ายชื่อในฐานะหน่วยงานราชการสายพันธุ์ใหม่แห่งแรก เพราะนอกจากได้รับ Best Practice รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ปี 2551 แล้ว ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เจ้าภาพขับเคลื่อนปฎิรูประบบราชการเองแล้ว ยังได้ยกระดับคุณภาพการให้บริการ ในเวทีระดับชาติรางวัล'ชมเชย'หรือ Finalist จากคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการให้บริการสาธารณะอย่างมืออาขีพ ในการประกวดรางวัลUnited Nations Public Service Awards (UNPSA) ประจำปี 2551 อีกด้วย

ล่าสุด ในปี 2552 นี้ “โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่” ก็สามารถคว้ารางวัลดีเยี่ยม (Winner) ในสาขาการปรับปรุงการบริการ (Improving the delivery of Service) ในการประกวดรางวัล United Nations Public Service Awards ประจำปี 2552 โดยเป็น 1 ใน 8 หน่วยงานจากทั่วโลกที่ได้รับรางวัลดีเยี่ยมของสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ จากจำนวน 600 หน่วยงานทั่วโลกที่ส่งผลงานเข้าประกวด

จุดเด่นของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ที่ทำให้คว้ารางวัลดีเยี่ยมในครั้งนี้ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้ความเห็นว่า อยู่ที่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์ และสร้างระบบการร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลและขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการ ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตคนไข้ให้น้อยลง โดยโรงพยาบาลฯได้กำหนดแนวทาง เน้นเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนในบริเวณใกล้เคียงให้เป็น “โรงพยาบาลใกล้บ้าน ใกล้ใจ” โดยให้บริการด้านองค์ความรู้ เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแก่โรงพยาบาลชุมชนและสร้างระบบส่งต่อผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ผ่านเครือข่ายความร่วมมือที่เรียกว่า Collaborative Networks (อ่านรายละเอียด เอ็กซเรย์แชมป์UN Awards Section Management)

“เป้าหมายของระบบเครือข่าย เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ และเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนในการดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โรงพยาบาลมหาราชจึงเข้าไปมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา สร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย จัดระบบดูแลโรควิกฤตแบบเร่งด่วน (Fast Track) สร้างระบบส่งต่ออย่างรวดเร็ว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น