วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

'ความเข้าใจ-ร่วมมือของผู้ป่วย แพทย์ โรคหอบหืด

โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคใกล้ ตัวที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วยจำนวนมากทุก ๆ ปี ซึ่งหากใครไม่เป็นก็คงไม่ได้รับรู้ถึง ความรู้สึกนั้น เพราะเมื่อไหร่ที่ฤดูเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจะต้องได้รับผลกระทบทุกครั้งไป ซึ่งหนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจที่คนทั่วโลกและคนไทยเป็นกันมาก ก็คือ “โรคหอบหืด” ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและที่ร้ายไปกว่า นั้นโรคนี้ยังเกี่ยวพัน และอาจเป็นสาเหตุที่สำคัญในการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจรุนแรงอื่น ๆ ตามมา อีกด้วย

เนื่องจากในทุก ๆ ภูมิภาคทั่วโลก จะมี ผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น องค์การอนามัยโลก และองค์การหืดโลกได้ร่วมกันกำหนดให้ทุกวันอังคารแรกของเดือนพฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันหอบหืดโลก ประกอบกับปัจจุบัน มลพิษและสิ่งแปลกปลอมในอากาศมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งสำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยโรค ภูมิแพ้และหอบหืดมากถึง 3-4 ล้านคนทั่วประเทศ โดยพบว่าโรคหอบหืดเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ใหญ่และเด็กเล็ก ซึ่งอาการแสดงของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป บางคนอาจแสดงอาการเป็นประจำตลอดปี บางคนอาจจะมีอาการรุนแรงในบางฤดู เป็นต้น

โรคหอบหืดจัดเป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สาเหตุอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือการสูดสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ โดยเกิดจากความไวผิดปกติของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น เช่น เกสร ดอกไม้ ควันบุหรี่ ไรฝุ่น อาหารบางประเภท อากาศเย็น เป็นต้น ซึ่งสิ่งกระตุ้นดังกล่าวจะส่งผลให้ท่อทางเดินหายใจเกิดการตีบแคบและทำให้หายใจลำบาก หลอดลมจะเกิดอาการอักเสบและหลั่งเมือก ออกมามาก เยื่อบุหลอดลมจะบวมทำให้ หลอดลมตีบแคบลง ทำให้ท่อทางเดินหายใจตีบแคบ ทั้งหมด นี้ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก ไอ หายใจมีเสียงวี้ด หายใจถี่ และแน่นหน้าอก ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจพบริมฝีปากและเล็บมีสีเขียวคล้ำ ซึ่งผู้ป่วยโรคหอบหืดจะต้องใช้ยาขยายหลอดลมในการรักษา มีทั้งแบบพ่น และแบบรับประทาน ซึ่งแบบพ่นจะให้ผลที่เร็วกว่า และยังสามารถใช้ในเด็กเล็ก ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมียาลดการบวม และการอักเสบของหลอดลม และยาป้องกันอีกด้วย ซึ่งจะใช้ยาชนิดไหนนั้น ต้องอยู่ที่ความรุนแรงของโรคและการวินิจฉัย ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อได้ทราบแล้วว่า โรคหอบหืดเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุดคือทำอย่างไรจึงจะ ควบคุมโรคได้ซึ่งพอจะรวบ รวมได้เป็นหลักใหญ่ ๆ 3 ประการดังนี้

1. ควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว

ดังที่ทราบแล้วว่า โรคหอบหืดเกิดจากร่างกายถูกกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม ถ้าได้รับการตรวจสารก่อภูมิแพ้ไม่ว่าจะตรวจโดยการทดสอบทางผิวหนัง หรือตรวจหาระดับ IgE โดยการเจาะเลือดตรวจ ให้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้น เช่น ไรฝุ่น ขน สุนัข ควันบุหรี่ เป็นต้น แต่ถ้าไม่ทราบว่าแพ้สารอะไร ก็ให้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้

ฝุ่นละออง

ควันรถ ควันบุหรี่

จัดห้องนอนไม่ให้มีสิ่งของที่จะคอยเก็บฝุ่น ควรมีเฉพาะเตียง ที่นอน ตู้เสื้อผ้า สิ่งอื่น ๆ ไม่ควรมี

ดูแลทำความสะอาดผ้าม่าน ห้องนอน ควรมีแสงสว่างส่องทั่วถึง ไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าต่างตลอดเวลา ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย เปิดระบายอากาศในช่วงเช้า 1-2 ชั่วโมงก็เพียงพอ

หลีกเลี่ยงการมีสัตว์เลี้ยง

2. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้

พักผ่อนให้เต็มที่

ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

3. การใช้ยา ชนิดระยะเวลาของการใช้ยา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค การใช้ยาที่ถูกต้องถูกวิธีจะควบคุมโรคได้ดี ควรปรึกษาแพทย์โรคภูมิแพ้

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหอบหืด

1. ถ้ารุนแรงอาจเสียชีวิตได้ เป็นผลจากหลอดลมตีบจนหายใจไม่ได้

2. โรคแทรกซ้อน ถุงลมแตก การติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อนิวโมคอคคัส เกิดกลุ่มโรค IPD ซึ่งอาจจะเกิดปอดอักเสบ (ดังภาพที่ 2) หูอักเสบ sinus อักเสบ และรุนแรงจนเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อายุ < 2 ขวบ แต่ขณะนี้พบน้อยลงเนื่องจากมีวัคซีนป้องกันโรค IPD เข้า มาในประเทศไทย แต่เนื่องจากราคาสูง จึงเป็นวัคซีนทางเลือก

3. คุณภาพชีวิตเสียไป ขาดงาน ขาดเรียน ขาดการร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น

แม้ว่าโรคหอบหืดจะเป็นโรคระบบทาง เดินหายใจเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับโรคหอบหืดให้มีความสุข ด้วยการรู้จักควบคุม และดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี นั่นเอง

ข้อมูลจาก นายแพทย์วิทยา อัศววิเชียรจินดา กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลพญาไท 3.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น