วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ละครการเมืองระหว่างประเทศ ระวังตัวเสี้ยมไทย -กัมพูชา


แม้การเจรจาระหว่างคณะของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะออกมารูปแบบไหน แต่การวางกำลังของกองทัพสองฝ่ายตามแนวชายแดน มีนัยสำคัญที่สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ สมเด็จฮุน เซน ในการตีกรอบการเจรจาแค่เรื่องการถอนกำลังออกบริเวณพื้นที่พิพาท ปิดประตูที่จะพูดคุยในประเด็นที่เราต้องการไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับท่าทีของคณะรัฐมนตรีในการย้ำจุดยืนต่อการตัดสินใจของยูเนสโก

เพราะอย่าลืมว่า ในการวางกำลังของกัมพูชา โดยที่ฝั่งไทยไม่มีกำลังคุมเชิง เสี่ยงต่อการเสียเปรียบของฝ่ายไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของเขตแดน การดำเนินการของรัฐบาลไทยและฝ่ายความมั่นคง ต้องพยายามอย่างยิ่งยวดในการรักษาผลประโยชน์ในพื้นที่ การจะเจรจาหรือพูดคุยจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ในพื้นที่ ที่ต้องมีทั้งกำลังทหาร และยุทโธปกรณ์ที่เพียงพอในการสร้างพลัง และที่ไม่ตกเบี้ยล่างของคู่พิพาท เพราะไม่เช่นนั้นการเจรจาพูดคุยอาจจะเสียเปรียบในเวทีการต่อรอง

บางทีคำพูดของ สมเด็จฮุน เซน และคำพูดของนายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯ ของกัมพูชา ที่แข็งกร้าวผ่านสื่อของกัมพูชา ก็อาจเป็นแค่เพียงยุทธศาสตร์ที่ใช้ปูพรมก่อนที่จะมีการเจรจาเกิดขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ ของสองฝ่ายที่แสดงอานุภาพตามแนวชายแดน ผ่านภาพข่าวที่ตึงเครียดแบบวันเว้นวัน อาจเป็นแค่ละครฉากหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่เวทีการเจรจาจะเกิดขึ้น เพราะปัญหาต่อจากนี้คือปัญหาในพื้นที่พิพาท หรือในเขตทับซ้อนที่ไทยยังคงตอกย้ำเรื่องการบริหารจัดการร่วม

การที่คณะรัฐมนตรีได้ตอกย้ำเรื่องการประท้วงคำตัดสินของยูเนสโกว่า ผิดกระบวนการและขัดต่อข้อตกลงร่วมของสองประเทศ และให้ตัวแทนของคณะรัฐมนตรีได้ตอกย้ำจุดยืนเดิม แม้รู้ว่าไม่ได้มีผลอะไรมากมาย แต่ในแง่ทางการเมืองที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ จนเกิดปัญหาตามมาให้ต้องแก้ไข ได้ออกมายื่นหนังสือทวงถาม และท้าทายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องเอาจริงมากกว่าคำพูดที่เคยกล่าวหาเขาไว้ ก็เป็นหนทางที่นายอภิสิทธิ์จะยืนยันในจุดยืนเองได้ เพราะจุดยืนเหล่านั้นก็อยู่บนฐานของผลประโยชน์ของชาติ

ไม่ว่าวันนี้ละครหน้าฉากของสองฝ่ายจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่า ไม่ว่าฝ่ายผู้นำกัมพูชา หรือผู้นำของไทย ล้วนทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนตัวเอง จะมีเรื่องการเมืองในประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องแค่ไหน แต่ก็ล้วนทำเพื่อส่วนรวม ไม่ได้หวังแค่ต้องการผลประโยชน์เพื่อการค้า หรือกอบโกยเงินเข้ากระเป๋าบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าในส่วนของประชาชนกัมพูชา หรือสื่อที่โหมกระพือช่วยรัฐบาลของ สมเด็จฮุน เซน ล้วนก็เพื่อคนในชาติและผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง

มิพักต้องเอ่ยถึงคนไทย ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลไทยต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของชาติ หรือได้รับประโยชน์ในการเจรจาในลักษณะที่สองประเทศได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการร่วมกัน ไม่เหมือนคนไทยบางคนที่ไปบงการหรือไปดำเนินการใดๆ ที่มุ่งหวังทางการเมือง เพียงเพื่อหวังดิสเครดิตรัฐบาลไทย และหวังแค่การเอาชนะคะคาน หรือเพื่อยืนกรานในสิ่งที่ตัวเองดำเนินการว่าไม่ได้มีข้อผิดพลาดบกพร่องใดๆ แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

แต่เหนืออื่นใด ไทยและกัมพูชาก็เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด เรื่องความสัมพันธ์ที่ดีก็ต้องดำเนินต่อไป จะไปตัดขาดหรือยกประเทศหนีไปคงไม่ได้ แต่หากการเจรจาต่างๆ ยึดเรื่องผลประโยชน์ร่วมกัน และหาหนทางที่ดีที่สุด ก็จะไม่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าของกำลังทหารในพื้นที่เกิดขึ้นแน่นอน และละครหน้าฉากที่แยกเขี้ยวใส่กันก็จะจบลงไปพร้อมกับการพูดคุยกันด้วยข้อมูลและเหตุผล โดยไม่มีฝรั่งผมทอง และฝรั่งหัวดำ ที่คอยเสี้ยมอยู่ข้างหลัง คอยก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือจ้องกอบโกยผลประโยชน์ในเรื่องการค้า และทรัพยากรมหาศาล ที่ยังไม่มีข้อยุติในข้อพิพาทหลายจุด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น